วันอาทิตย์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2559

อารยธรรมโรมัน


อารยธรรมโรมัน
อารยธรรมโรมันมีศูนย์กลางอยู่ที่แหลมอิตาลี เป็นอารยธรรมของพวกอินโด-ยูโรเปียนเผ่าละติน(Latin) ซึ่งอพยพจากทางตอนเหนือมาตั้งถิ่นฐานในแหลมอิตาลีเมื่อประมาณ 1000 ปีก่อนคริสต์ศักราช และเรียกตัวเองว่า “โรมัน” พวกโรมันได้ขยายอิทธพลเข้าครอบครองดินแดนที่เป็นศูนย์กลางความเจริญของอารยธรรมเฮลเลนิสติกซึ่งสลายเมื่อประมาณปี 146 ก่อนคริสต์ศักราช และดินแดนอื่นๆ ทั้งในยุโรปและแอฟริกาเหนือ ทำให้อารยธรรมของโลกตะวันออกซึ่งผสมผสานอยู่ในอารยธรรมกรีกได้ขยายเข้าไปในทวีปยุโรป และเป็นรากฐานของอารยธรรมตะวันตกในปัจจุบัน

1.ปัจจัยส่งเสริมการขยายอำนาจของจักรวรรดิโรมัน
จักรวรรดิโรมันขยายอำนาจที่ยิ่งใหญ่เหนือดินแดนต่างๆ นานหลายร้อยปี โดยมีปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมการขยายอำนาจของโรมันคือ สภาพภูมิศาสตร์ของแหลมอิตาลี ระบอบการปกครอง และกองทัพโรมัน


สภาพภูมิศาสตร์ของแหลมอิตาลี แหลมอิตาลีตั้งอยู่กึ่งกลางทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ระหว่างคาบสมุทรบอลข่านและคาบสมุทรไอบีเรีย ซึ่งสะดวกต่อการติดต่อกับเอเชียไมเนอร์และยุโรปตอนใต้ นอกจากนี้รูปร่างของแหลมอิตาลียังเปรียบเสมือนรองเท้าบูตที่ยื่นเข้าไปในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทำให้สามารถติดต่อกับดินแดนรอบๆ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน โดยเฉพาะตอนเหนือของทวีปแอฟริกา อนึ่ง ตอนเหนือของแหลมอิตาลีแม้จะมีเทือกเขาแอลป์ (Alps) ขวางกั้นแต่ชาวโรมันก็สามารถติดต่อกับดินแดนตอนกลางของยุโรปได้ไม่ยากนักเนื่องจากมีช่องเขาที่สามารถเดินทางผ่านได้ นอกจากนี้ชายฝั่งทะเลที่ยาวเหยียดของแหลมอิตาลีก็ช่วยให้ชาวโรมันติดต่อกับดินแดนอื่นๆได้สะดวก ลักษณะที่ตั้งดังกล่าวแม้จะเคยเป็นจุดอ่อนที่เปิดโอกาสให้ศัตรูที่เข้มแข็งกว่าเข้ามารุกรานชาวโรมันสมัยโบราณได้โดยง่าย แต่ในทางตรงข้าม ชาวโรมันก็ใช้ประโยชน์จากสภาพภูมิศาสตร์ของตนในการรุกรานดินแดนอื่นๆ ทั่วทุกทิศ จนขยายอำนาจเป็นจักรวรรดิโรมันในเวลาต่อมา
สภาพภูมิศาสตร์ของแหลมอิตาลียังมีส่วนสำคัญในการหล่อหลอมเอกภาพของชาวโรมัน ลักษณะภูมิประเทศของแหลมอิตาลี แม้จะมีเทือกเขาอะเพนไนน์ (Apennine) ทอดขนานตามความยาวของรองเท้าบูต แต่เทือกเขานี้ก็ไม่สูงชันเหมือนกับภูเขาในดินแดนกรีก จึงไม่เป็นอุปสรรคต่อการติดต่อค้าขายภายในและการรวมอำนาจสู่ศูนย์กลาง นอกจากนี้ แหลมอิตาลียังมีพื้นที่ราบเชิงเขาที่มีดินอุดมสมบูรณ์ รวมทั้งมีภูมิอากาศที่อบอุ่นช่วยให้การเพาะปลูกได้ผลดี ชาวโรมันจึงมีเศรษฐกิจรุ่งเรือง สามารถขยายตลาดการค้าภายในดินแดนของตนและไม่ต้องพึ่งพาการค้าต่างประเทศมากนัก

ระบบปกครอง ชาวโรมันได้สถาปนาการปกครองระบอบสาธารณรัฐขึ้นหลังจากรวมอำนาจในแหลมอิตาลีได้ ระบอบสาธารณรัฐสร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่ชาวโรมัน เพราะเป็นระบอบที่เปิดโอกาสให้พลเมืองโรมันทุกคนทั้งชนชั้นสูง สามัญชน และทหาร มีส่วนร่วมในการปกครอง ด้วยการเลือกตั้งตัวแทนของกลุ่มตนเข้าไปบริหารออกกฎหมาย กำหนดนโยบายต่างประเทศ และประกาศสงคราม โดยมีกงสุล (Consull) ซึ่งมาจากการเลือกตั้งทำหน้าที่ประมุขและบริหารการปกครองทุกด้าน การมีส่วนร่วมในการปกครองของพลเมืองโรมันทำให้สาธารณรัฐโรมันแข็งแกร่งมั่นคงและเจริญก้าวหน้า
ต่อมาเมื่อโรมันขยายอำนาจครอบครองดินแดนอื่นๆอย่างรวดเร็ว จึงเปลี่ยนระบอบปกครองเป็นจักวรรดิ มีจักรวรรดิเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด จักรวรรดิได้แต่งตั้งชาวโรมันปกครองอาณานิคมต่างๆ โดยตรง ทำให้สามารถควบคุมดินแดนต่างๆ และส่งผลให้จักรวรรดิโรมันมีอำนาจยืนยาวหลายร้อยปี

กองทัพโรมัน ความเข้มแข็งของกองทัพโรมันเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งเสริมการขยายอิทธิพลของจักรวรรดิโรมัน กองทัพโรมันมีชื่อเสียงในด้านความสามารถและประสิทธิภาพการรบ ความสำเร็จส่วนใหญ่เกิดจากการจัดองศ์กรภายในกองทัพที่ดีเยี่ยมและการฝึกฝนทหารให้มีประสิทธิภาพและมีวินัย โดยใช้บทลงโทษที่รุนแรง นอกจากนี้ความเข้มแข็งของกองทัพยังรวมถึงความรับผิดชอบของทหารแต่ละคนอีกด้วย (ทหารโรมันประกอบด้วยพลเมืองชายทุกคน มีหน้าที่รับใช้กองทัพในยามเกิดศึกสงคราม ทหารเหล่านี้ไม่มีตำแหน่งในกองทัพ เว้นแต่ได้ปฏิบัติหน้าที่เกินกว่า 10 ปีขึ้นไป)


                กองทัพโรมันมีสถานะสำคัญมากขึ้นในสมัยจักรวรรดิ ซึ่งต้องอาศัยกองทัพค้ำจุนอำนาจของจักรวรรดิทหารโรมันถูกมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ปกครองจักรวรรดิและเขตแดน จักรวรรดิโรมันได้สร้างป้อมและค่ายทหารจำนวนมากตามแนวชายแดนของจักรวรรดิโดยเฉพาะทางตอนเหนือ โดยเกณฑ์ชาวพื้นเมืองของดินแดนอาณานิึคมมาเป็นทหาร ซึ่งได้รับสัญญาว่าถ้าปฏิบัติหน้าที่ครบ 25 ปี ก็จะได้รับสิทธิเป็นพลเมืองโรมัน ดังนั้นจักรววรดิโรมัน จึงมีทหารปฏิบัติหน้าที่รักษาชายแดนประมาณเกือบ 500000 คน อนึ่ง เพื่อเป็นการกระชับการปกครองดินแดนอาณานิคม จักรวรรดิโรมันได้สร้างถนนจำนวนมากเชื่อมระหว่างค่ายทหารซึ่งต่อมาถูดพัฒนาขึ้นเป็นเมืองกับเมืองหลักต่างๆ ในเขตจักรวรรดิ และยังสร้างถนนหลวงเชื่อมเมืองหลักเหล่านี้กับกรุงโรม จนมีคำขวัญว่า “ถนนทุกสายมุ่งสู่กรุงโรม”

2.การขยายอำนาจของจักวรรดิโมัน
ชาวโรมันโบราณที่อพยพเข้ามาอยู่ในแหลมอิตาลีประกอบด้วยเผ่าที่สำคัญ 2 เผ่า คือ พวกละติน ซึ่งอพยพมาจากทางตอนเหนือ เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตที่ราบตะวันตก และตามแนวแม่น้ำไทเบอร์ (Tiber River) จากนั้นได้สร้างเมืองต่างๆ ขึ้นรวมทั้งกรุงโรม อีกเผ่าหนึ่งคือพวกอีทรัสคัน (Etruscans) ซึ่งอพยพมาจากเอเชียไมเนอร์เมื่อประมาณ 900 ปีก่อนคริสต์ศักราช พวกอีทรัสคันได้ขยายอาณาเขตรุกรานดินแดนของพวกละติน และสถาปนากษัตริย์ปกครองแหลมอิตาลีเมื่อประมาณ 600 ปีก่อนคริสต์ศักราช หลังจากขยายอำนาจปกครองได้ประมาณ 100 ปี พวกอีทรัสคันก็สูญเสียอำนาจ และผสมกลมกลืนกับพวกละตินจนกลายเป็นชาวโรมันในเวลาต่อมา ความเจริญรุ่งเรืองที่พวกอีทรัสคันสร้างไว้ให้แก่อารยธรรมโรมันคือ การนำตัวอักษรกรีกเข้ามาใช้ในแหลมอิตาลี ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นอักษรโรมัน
พัฒนาการของสาธารณรัฐในโรมัน ชาวโรมันได้สถาปนาสาธารณรัญโรมันขึ้นหลังจากอีทรัสคันเสื่อมสลายไป จากนั้นได้ขยายอำนาจทั่วแหลมอิตาลีและในดินแดนรอบๆ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ระหว่างปี 264-146 ก่อนคริสต์ศักราช โรมันได้ทำสงครามพูนิก (Punic War) กับคาร์เทจ(Carthage) ถึง 3 ครั้ง คาร์เทจเป็นนครริมฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทางตอนเหนือของทวีปแอฟริกาในเขตประเทศตูนิเชียปัจจุบัน ในอดีตเป็นอาณานิคมที่ชาวฟินิเซียนสร้างขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางการค้าในเขตทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ต่อมาได้เจริญเติบโตและมั่งคั่งพร้อมทั้งมีอาณานิคมของตนหลายแห่ง เมื่อโรมันขยายอำนาจลงมาทางใต้ของแหลมอิตาลีได้เกิดขัดแย้งกับคาร์เทจ ซึ่งมีอาณานิคมอยู่ไม่ไกลจากแหลมอิตาลีมากนัก คาร์เทจพ่ายแพ้แก่โรมันในสงครามพูนิกทั้ง 3 ครั้ง ทำให้โรมันมีอำนาจเหนือดินแดนรอบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนด้านตะวันตก รวมทั้งสเปน ซึ่งอุดมด้วยเหมืองทองและเงิน
             นอกจากนี้แล้ว โรมันยังเอาชนะอาณาจักรซิโดเนียซึ่งเป็นพันธมิตรของคาร์เทจได้เมื่อปี 147 ก่อนคริสต์ศักราช ดังนั้นนครรัฐกรีกทั้งปวง ตลอดจนดินแดนในเขจเอเชียไมเนอร์ซึ่งเป็นอดีตอาณานิคมของมาซิโดเนียจึงอยู่ภายในอำนาจของโรมันด้วย
การสถาปนาจักรวรรดิโรมัน การทำสงครามขยายอำนาจครอบครองดินแดนต่างๆ ทำให้เกิดผู้นำทางการทหารซึ่งได้รับความจงรักภักดีจากทหารของตน เกิดการแก่งแย่งอำนาจกันระหว่างกลุ่มผู้นำกองทัพกับสมาชิกสภาซีเนตซึ่งคุมอำนาจปกครองอยู่เดิม
             ในปี 46 ก่อนคริสต์ศักราช จูเลียส ซีซาร์ (Julius Caesar)แม่ทัพโรมันซึ่งมีฐานอำนาจอยู่ที่แหลมอิตาลี สเปน กรีก และอียิปต์ ได้เข้าควบคุมกรุงโรม ปีต่อมาเขาได้รับการสถาปนาเป็นผู้เผด็จการ (Dictator) และมีอำนาจสูงสุดเทียบเท่ากษัตริย์ ขณะนั้นโรมันยังคงปกครองในระบอบสาธารณรัฐ แต่อำนาจขององค์กรการเมืองถูกลิดรอน เช่น การเพิ่มจำนวนสมาชิกในสภาซีเนตจากเดิมซึ่งมีเพียง 300 คน เป็น 900 คน และยังอนุญาตให้สมาชิกมาจากพลเมืองกลุ่มอื่นๆ ได้นอกเหนือจากเดิมที่สงวนให้เฉพาะกลุ่มชนชั้นสูงเท่านั้น นอกจากนี้ซีซาร์ยังให้สถานะ “พลเมืองโรมัน” แก่ประชาชนทั่วไปตามเขตต่างๆ มากขึ้น นโยบายดังกล่าวช่วยเพิ่มอิทธิพลและอำนาจของซีซาร์ เป็นเหตุให้มีผู้อิจฉาริษยาอำนาจของเขา ซีซาร์ถูกลักลอบสังหารเมื่อปี 44 ก่อนคริสต์ศักราช


             ต่อมาในปี 27 ก่อนคริสต์ศักราช ออคเตเวียน (Octavian) หลานชายของซีซาร์ได้เปลี่ยนแปลงระบอบสาธารณรัฐเป็นระบอบจักรวรรดิ และสถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิออกุสตุส (Augustus) ครองอำนาจระหว่างปี 27-14 ก่อนคริสต์ศักราช พระองค์ทรงเป็นทั้งประมุขสูงสุดที่มีอำนาจปกครองด้านบริหารและนิติบัญญัติ รวมทั้งเป็นจอมทัพอีกด้วย ในสมัยจักรพรรดิออกุสตุสนี้จักรวรรดิโรมันได้ขยายอำนาจออกไปไกลถึงสเปน ซีเรีย เขตลุ่มแม่น้ำไรน์ และแม่น้ำดานูป ตลอดจนถึงเขตทะเลทรายซาฮาราในทวีปแอฟริกา ระหว่าง ค.ศ.117-180 จักรวรรดิโรมันเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด สามารถขยายอิทธิพลครอบครองดินแดนมากกว่าครึ่งหนึ่งของภาคพื้นทวีปยุโรป รวมทั้งเกาะอังกฤษ (ยกเว้นสกอตแลนด์) ส่วนทางด้านตะวันออกก็สามารถขยายอิทธิพลต่อเนื่องไปจนถึงดินแดนเมโสโปเตเมียและอาร์เมเนีย ความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิโรมันส่งผลให้อารยธรรมโรมันแพร่เข้าไปในดินแดนต่างๆ โดยเฉพาะทวีปยุโรปซึ่งรับความเจริญจากอารยธรรมโรมันทั้งด้านการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม

           ความเสื่อมของจักรวรรดิโรมัน ตั้งแต่ค.ศ.180จักรวรรดิโรมันเริ่มเสื่อมอำนาจลงเนื่องจากไม่สามรถปกครองจักรวรรดิที่มีขนาดกว้างใหญ่มากๆได้ บางช่วงต้องมีการแต่งตั้งจักรพรรดิร่วมเพื่อแยกกันปกครองจักรวรรดิ
            ใน ค.ศ. 324 จักพรรดิคอนสแตนติน (Constantine) ได้ปกครองจักวรรดิโรมัน และเกิดเหตุการณ์สำคัญ 2 เหตุการณ์ คือ

เหตุการณ์แรก ได้แก่การย้ายศูนย์กลางการปกครองจากกรุงโรมไปยังกรุงคอนสแตนติโนเปิล (Constantinople) เรียกว่าจักรวรรดิไบแซนไทน์ (Byzantine) เมื่อ ค.ศ. 330 ทำให้จักรวรรดิโรมันถูกแบ่งแยกเป็น 2 ส่วน คือ จักรวรรดิโรมันตะวันตก ซึ่งยังคงมีศูนย์กลางที่กรุงโรม และจักรวรรดิไบแซนไทน์หรือหรือจักรวรรดิโรมันตะวันออก  มีศูนย์กลางที่กรุงคอนสแตนติโนเปิล (ปัจจุบันคือนครอิสตันบูลในประเทศตุรกี) ส่งผลให้จักรวรรดิโรมันเสื่อมอำนาจลงและถูกรุกรานในเวลาต่อมา

เหตุการณ์ที่สอง คือการที่จักรพรรดิคอนสแตนตินหันไปนับถือศาสนาคริสต์และทำให้คริสต์ศาสนาแพร่หลายในเขตจักรวรรดิโรมัน และกลายเป็นศาสนาหลักของโลกตะวันตกในเวลาต่อมา
ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 5 จักรวรรดิโรมันถูกแบ่งแยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง จักวรรดิโรมันตะวันตกอ่อนแอลงตามลำดับเพราะถูกทำลายโดยพวกอารยชนสำคัญ 2 เผ่า คือ เผ่าเยอรมันซึ่งมาจากทางเหนือของแม่น้ำไรน์และแม่น้ำดานูบ และพวกฮัน (Huns) ซึ่งเป็นเชื้อสายเอเชียมาจากทางเหนือของทะเลดำ พวกเยอรมันโจมตีกรุงโรมได้ใน ค.ศ. 410 และปล้นสะดมทุกสิ่งทุกอย่าง ทำให้เกิดความระส่ำระสายขึ้นในจักรวรรดิโรมันตะวันตก ในที่สุดจักรพรรดิองค์สุดท้ายของจักรวรรดิโรมันตะวันตกก็ถูกโค่นใน ค.ศ. 476 ซึ่งนักประวัติศาสตร์ถือว่าเป็นปีที่จักรวรรดิโรมันล่มสลาย แม้ว่าจักรวรรดิไบแซนไทน์ยังดำรงอยู่ต่อไปก็ตาม


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น