วันอาทิตย์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2559

อารยธรรมกรีก


1.กำเนิดอารยธรรมกรีก

อารยธรรมกรีกที่เป็นมรดกตกทอดมาถึงปัจจุบันนี้ประกอบด้วยอารยธรรมหลัก 2 ส่วน ได้แก่ อารยธรรมของชาวกรีกโบราณหรืออารยธรรมเฮลเลนิก (Hellenic Civilizaton, ปี 750-336 ก่อนคริสต์ศักราช) และ อารยธรรมเฮลเลนิสติก (Hellenistic Civilization, ปี 336-31 ก่อนคริสต์ศักราช)ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่กรีกอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิมาซิโดเนีย (Macedonia) และเป็นอารยธรรมที่ผสมผสานกับความเจริญที่รับจากดินแดนรอบๆ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ปัจจัยที่สำคัญที่ส่งเสริมให้เกิดอารยธรรมกรีกโดยรวม คือ ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ชาวกรีกโบราณ และระบอบนครรัฐกรีก

ที่ตั้ง อารยธรรมกรีกเกิดขึ้นในบริเวณตอนใต้ของคาบสมุทรบอลข่านและชายฝั่งทะเลอีเจียน ซึ่งกั้นระหว่างคาบสมุทรบอลข่านและเอเชียไมเนอร์ บริเวณเหล่านี้อยู่ในเขตทะเลเมดิเตอร์เรเนียนซึ่งรายรอบด้วยอารยธรรมสำคัญของโลก คืออารยธรรมอียิปต์และเมโสโปเตเมีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอยู่ใกล้กับเกาะครีตซึ่งเป็นศูนย์กลางของอารยธรรมไมนวน (Minoan Civilization ประมาณปี 2000-1400 ก่อนคริสต์ศักราช) ที่เกิดจากการผสมผสานอารยธรรมของดินแดนในแถบรอบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทำให้ชาวกรีกสมัยโบราณมีโอกาสรับและแลกเปลี่ยนความเจริญด้านต่างๆ ของอารยธรรมเมโสโปเตเมียและอียิปต์จากเกาะครีต อนึ่ง พื้นที่ในคาบสมุทรบอลข่านตอนใต้ยังประกอบด้วยภูเขาและที่ราบสูงซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการรวมศูนย์อำนาจปกรอง ทำให้ชาวกรีกสมัยโบราณมีการปกครองแบบนครรัฐและมักเกิดสงครามระหว่างนครรัฐ เช่น กรณีนครรัฐสปาร์ตา (Sparta) ทำสงครามรุกรานกรุงเอเธนส์ อนึ่ง กรีกยังมีพื้นที่ราบเพาะปลูกไม่มากนัก ทำให้ไม่สามารถพึ่งพาการประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้เพียงอย่างเดียว แต่สภาพที่ตั้งซึ่งมีชายฝั่งทะเลและท่าเรือที่เหมาะสมจำนวนมาก ชาวกรีกจึงสามารถประกอบอาชีพประมงและเดินเรือค้าขายกับดินแดนต่างๆ ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน รวมทั้งมีโอกาสขยายอิทธิพลไปยึดครองดินแดนอื่นๆ ในเขตเอเชียไมเนอร์ด้วย ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดอารยธรรมต่อกัน โดยเฉพาะการนำอารยธรรมของโลกตะวันออกไปสู่ตะวันตก
            ชาวกรีกโบราณ ชาวกรีกโบราณเรียกตัวเองว่า “เฮลลีน” (Hellene) เป็นพวกอินโด-ยูโรเปียนกลุ่มหนึ่งที่อพยพมาจากทางตอนเหนือของประเทศกรีซปัจจุบันเมื่อประมาณ 2000 ปีก่อนคริสต์ศักราช ในระยะแรก กระจายอยู่เป็นเผ่าต่างๆ ในคาบสมุทรบอลข่านและเขตทะเลอีเจียน ที่สำคัญได้แก่ พวกไอโอเนียน (Ionians) และพวกไมซีเนียน (Mycenaeans) โดยทั่วไปชาวกรีกโบราณประกอบอาชีพเกษตรกรรมและเดินเรือ ต่อมาเผ่าที่มีความเจริญได้ขยายอำนาจและก่อตั้งเป็นนครรัฐ ที่สำคัญได้แก่นครรัฐของพวกไมซีเนียนซึ่งยึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ และมีอำนาจสูงสุดประมาณปี 1600-1100 ก่อนคริสต์ศักราช โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองไมซีเนทางตอนใต้ของประเทศกรีซในปัจจุบัน พวกไมซีเนียนเป็นนักรบที่มีความเก่งกล้าสามารถยึดครองดินแดนของนครรัฐอื่นๆ รวมทั้งเกาะครีต และรับอิทธิพลของอารยธรรมต่างๆ โดยเฉพาะอารยธรรมไมนวนของชาวเกาะครีต
           ต่อมาประมาณปี 1100 ก่อนคริสต์ศักราช พวกกรีกอีกกลุ่มหนึ่งเรียกว่า ดอเรียน (Dorians) ซึ่งอพยพมาจากทางเหนือและขยายอำนาจครอบครองดินแดนของพวกไมซีเนียน พวกนี้ได้สร้างนครรัฐสปาร์ตาเป็นศูนย์กลางปกครองของตน พวกดอเรียนมีความเจริญน้อยกว่าไมซีเนียนและไม่รู้หนังสือ จึงไม่มีหลักฐานที่กล่าวถึงดินแดนกรีกภายใต้อิทธิพลของพวกดอเรียนในช่วงปี 1100-750 ก่อนคริสต์ศักราชมากนัก จนกระทั่งประมาณปี 750 ก่อนคริสต์ศักราช ได้มีการประดิษฐ์อักษรซึ่งรับรู)แบบมาจากอักษรและพยัญชนะของพวกฟีนิเชียนที่เข้ามาติดต่อค้าขายในช่วงนั้น อย่างไรก็ตามแม้พวกดอเรียนจะมีอำนาจเข้มแข็งแต่ก็ไม่สามารถรวมอำนาจปกครองนครรัฐกรีกได้ทั้งหมด
          หลักจากนครรัฐสปาร์ตาเสื่อมอำนาจ เมื่อปี 371 กาอนคริสต์ศักราช นครรัฐกีกอื่นๆ ก็พยายามรวมตัวกันโดยมีนาครรัฐทีบีส (Thebes) เป็นผู้นำ แต่ในที่สุดก็ถูกกษัตริย์ฟิลิปแห่งมาซิโดเนียซึ่งอยู่ในเขตเอเชียไมเนอร์รุกรานและครอบครองเมืื่อปี 338 ก่อนคริสต์ศักราช ต่อมาเมื่อพระเจ้าอะเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great, ปี 336-323 ก่อนคริสต์ศักราช) โอรสของพระเจ้าฟิลิปได้ปกครองจักรวรรดิมาซิโดเนีย พระองศ์ได้ขยายอาณาจักรออกไปอย่างกว้างขวางจนถึงเขตลุ่มแม่น้ำสินธุและได้ครอบครองแหล่งอารยธรรมต่างๆ ของโลก ได้แก่ อียิปต์ เมโสโปเตเมีย และเปอร์เซีย จึงมีการรับความเจริญจากแหล่งต่างๆ เหล่านั้นมาผสมผสานกับอารยธรรมกรีก เรียกว่า อารยธรรมเฮลเลนิสติกตามชื่อสมัยเฮลเลนิสติก (Hellenistic) ซึ่งเริ่มตั้งแต่สมัยของพระเจ้าอะเล็กซานเดอร์มหาราชจนกระทั่งสิ้นสลายเมื่อประมาณปี 146 ก่อนคริสต์ศักราช จากนั้นดินแดนกรีกได้ตกอยู่ใต้การปกครองของจักรวรรดิโรมัน ความเจริญต่างๆ ที่ชาวกรีกสั่งสมไว้ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของอารยธรรมโรมัน
          ระบอบนครรัฐกรีก การปกครองแบบนครรัฐของกรีกที่มีความหลากหลาย ส่งเสริมให้นครรัฐแต่ละแห่งมีโอกาสพัฒนารูปแบบและวิธีการปกครองของตนเอง นครรัฐสำคัญที่มีบทบาทพัฒนาอารยธรรมด้านการปกครอง ได้แก่ สปาร์ตาและเอเธนส์
           นครรัฐสปาร์ตา มีการปกครองแบบทหารนิยม คณะผู้ปกครองมีอำนาจสูงสุดและเด็ดขาด พลเมืองชายทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 20-60 ปี ต้องถูกฝึกฝนให้เป็นทหาร เรียนรู้วิธีการต่อสู้และเอาตัวรอดในสงคราม แม้แต่พลเมืองหญิงก็ยังต้องฝึกให้มีสุขภาพแข็งแรงเพื่อเตรียมเป็นมารดาของทหารที่แข็งแกร่งในอนาคต อนึ่ง พวกสปาร์ตายังต่อต้านความมั่งคั่งฟุ่มเฟือย เพราะเกรงว่าอำนาจของเงินตราจะทำลายระเบียบวินัยทหาร รวมทั้งยังไม่สนับสนุนการค้าขายและการสร้างสรรค์ศิลปกรรมใดๆ การปกครองของพวกสปาร์ตานับเป็นการขัดขวางสิทธิของปัจเจกชน และเป็นต้นกำเนิดของระบอบการปกครองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ (Totalitarianism)



           นครรัฐเอเธนส์ เป็นต้นกำเนิดของรัฐประชาธิปไตย นครรัฐเอเธนส์ปกครองโดยสภาห้าร้อย ซึ่งได้รับเลือกจากพลเมืองเอเธนส์ที่มีสิทธิออกเสียง สภานี้มีหน้าที่ตรวจสอบร่างกฎหมายและบริหารการปกครอง นอกจากนี้ยังมีสภาราษฎร ซึ่งเป็นที่ประชุมของพลเมืองที่มีสิทธิออกเสียงทุกคนและทำหน้าที่พิจารณาร่างกฎหมาย การที่เอเธนส์ให้สิทธิและเสรีภาพแก่ปัจเจกชน ทำให้เกิดนักคิดและนักปราชญ์ที่เรียกว่าพวกโซฟิสต์ (Sophists) สำนักต่างๆ ในสังคมเอเธนส์ แนวคิดและปรัชญาของนักปรัชญาคนสำคัญ ได้แก่ โซเครติส และเพลโต ยังเป็นหลักปรัชญาของโลกตะวันตกด้วย

            2.ความรุ่งเรืองของอารยธรรมกรีก ชาวกรีกได้สร้างสรรค์ความเจริญให้เป็นมรดกแก่ชาวโลกจำนวนมาก ที่สำคัญได้แก่ ความเจริญด้านศิลปกรรม ปรัชญา การศึกษา วรรณกรรมและวิทยาการต่างๆ

            ศิลปกรรม ความเจริญด้านศิลปกรรมเป็นจุดเด่นอย่างหนึ่งของอารยธรรมกรีกซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นต้นแบบของงานศิลปกรรมของโลก ส่วนใหญ่เป็นงานสร้างสรรค์ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากความศรัทธาทางศาสนา โดยสร้างขึ้นเพื่อแสดงความเคารพบูชาและบวงสรวงเทพเจ้าของตน ผลงานที่ได้รับการยกย่องมีจำนวนมากที่สำคัญได้แก่ ด้านสถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม และศิลปะการแสดง
             ด้านสถาปัตยกรรม ชาวเอเธนส์ได้สร้างสรรค์งานด้านสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นให้แก่ชาวโลกจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นการก่อสร้างอาคารเพื่อกิจกรรมสาธารณะ เช่น วิหาร สนามกีฬา และโรงละคร ความโดดเด่นของงานสถาปัตยกรรมไม่ได้ขึ้นอยู่กับความใหญ่โตของสิ่งก่อสร้าง แต่เป็นความงดงามของสัดส่วนที่สมบูรณ์แบบ ตัวอย่างเช่น วิหารพาร์เทนอน (Parthenon) ที่ตั้งอยู่บนเนินเขาอะโครโพลิส (Acropolis) เป็นสิ่งก่อสร้างที่มีสัดส่วนงดงามทั้งความยาว ความกวว้างและความสูง จัดว่าเป็นผลงานชิ้นเอกของโลก

              ด้านประติมากรรม ผลงานด้านประติมากรรมจัดว่าเป็นสิ่งที่โดดเด่นที่สุดในงานศิลปกรรมของกรีก ชาวกรีกสร้างงานประติมากรรมจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นรูปปั้นเทพเจ้าของกรีก อย่างไรก็ตาม เนื่องจากชาวกรีกยอมรับและเชื่อมั่นคุณค่าของมนุษย์ ผลงานประติมากรรมจึงดูเป็นธรรมชาติ ลักษณะของสรีระกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นคล้ายมนุษย์ที่มีชีวิต ผลงานชิ้นเยี่ยมได้แก่ รูปปั้นเทพเจ้าอะทีนา ที่วิหารพาร์เทนอน และเทพเจ้าซุส ที่วิหารแห่งโอลิมเปีย
              ด้านจิตรกรรม ที่ปรากฏอยู่ส่วนใหญ่เป็นลวดลายที่เขียนบนเครื่องปั้นดินเผา เช่น แจกัน คนโท ฯลฯ และจิตรกรรมฝาผนังที่พบในวิหารและกำแพง
              ศิลปะการแสดง ชาวกรีกได้คิดค้นศิลปะการแสดงประเภทต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นการจัดแสดงเพื่อเฉลิมฉลองพิธีบวงสรวงเทพเจ้าของตน เช่น ละครกลางแจ้งซึ่งเป็นต้นแบบของการแสดงละครในปัจจุบัน ดนตรีและการละเล่นอื่นๆ
              ปรัชญา ความเจริญด้านปรัชญาได้รับการยกย่องว่าเป็นความเจริญรสูงสุดของภูมิปัญญากรีกเช่นเดียวกับความเจริญด้านศิลปกรรม นักปรัชญากรีกที่มีชื่อเสียงโดดเด่น ได้แก่ โซเครติส เพลโต และอริสโตเติล
             โซเครติส (Socrates) เกิดที่นครเอเธนส์ มีชีวิตอยู่ระหว่างปี 469-399 ก่อนคริสต์ศักราช เขาสอนให้คนใช้เหตุผลและสติปัญญาในการแสวงหาความจริงเกี่ยวกับชีวิตมนุษย์ วิธีสอนของเขาซึ่งเรียกว่า “Socretic method” ไม่เน้นการท่องจำ แต่ใช้วิธีตั้งคำถามโดยไม่ต้องการคำตอบ แต่ให้ผู้ถูกถามขบคิดปัญหาเพื่อหาคำตอบด้วยตนเอง แม้โซเครติสจะสั่งสอนลูกศิษย์มากมาย แต่ก็ไม่เคยมีผลงานเขียนของตนเอง ดังนั้นปรัชญาและทฤษฎีของเขาที่รู้จักกันสืบมาจึงเป็นผลงานที่ถ่ายทอดโดยลูกศิษย์ของเขา
            อริสโตเติล (Aristotle) เป็นทั้งนักปรัชญาและนักวิทยาศาสตร์ เขาเป็นศิษย์ที่ชาญฉลาดของเพลโตและเคยเป็นพระอาจารย์ของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชแห่งมาซิโดเนียอริสโตเติลเป็นทั้งปราชญ์และนักวิจัยที่มีความสนใจหลากหลาย นอกจากปรัชญาทางการเมืองแล้ว เขายังสนใจวิทยาการใหม่ๆ อีกมาก เช่น ชีววิทยา ฟิสิกส์ ดาราศาสตร์ หลักตรรกศาสตร์ วาทกรรม จริยศาสตร์ ฯลฯ ผลงานที่โดดเด่นของเขาคือหนังสือชื่อ การเมือง (Politics) ซึ่งเป็นการวิจัยรูปแบบการปกครองของนครรัฐต่างๆ ถึง 150 แห่ง
            เพลโต (Plato) เป็นศิษย์เอกของโซเครติส เกิดที่นครเอเธนส์ประมาณ 429 ปีก่อนคริสต์ศักราชและเป็นผู้ถ่ายทอดหลักการและความคิดของโซเครติสให้ชาวโลกได้รับรู้ เพลโตได้เปิดโรงเรียนชื่อ “อะแคเดอมี” (Academy) และได้เขียนหนังสือที่สะท้อนแนวคิดเกี่ยวกับการปกครอง การศึกษา ระบบยุติธรรม ผลงานที่โดนเด่นและทำให้เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งปรัชญาการเมืองสมัยใหม่คือหนังสือชื่อ สาธารณรัฐ (Republic) ซึ่งเสนอแนวคิดในการปกครองประเทศและมีอิทธิพลต่อความคิดทางการเมืองของผู้คนทั่วโลก

              การศึกษา การศึกษามีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของชาวกรีกเพราะทำให้มีสถานะที่ดีในสังคมผู้ที่ได้รับการศึกษาสูงจะมีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครองโดยเฉพาะชาวเอเธนส์เชื่อว่าระบอประชาธิปไตยจะประสบความสำเร็จได้ถ้าหากผู้นำมีการศึกษดังนั้นจึงจัดการศึกษาขั้นประถมให้แก่เด็กชายโดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน
วิชาที่สอนในระดับประถมศึกษา ได้แก่ ไวยากรณ์กรีก ซึ่งรวมถึงมหากาพย์ อีเลียด (Iliad) และ โอเดสซี (Odyssey) ของโฮเมอร์ (Homer) ดนตรี และยิมนาสติก หลักสูตรนี้เน้นการฝึกฝนความรู้ด้านภาษา อารมณ์ และความแข็งแกร่งของร่างกาย ส่วนเด็กโตจะศึกษาวิชากวีนิพนธ์ การปกครอง จริยศาสตร์ ตรีโกณมิติ ดาราศาตร์ วาทกรรม เมื่อสำเร็จหลักสูตรแล้ว เยาวชนชายเหล่านี้ก็มีความสมบูรณ์ทั้งสติปัญญาและร่างกายและพร้อมเป็นพลเมืองกรีกเมื่ออายุครบ 19 ปี วิธีจัดหลักสูตรที่สร้างความพร้อมให้แก่พลเมืองทั้งด้านสติปัญญาอารมณ์ และร่างกายนี้เป็นแบบอย่างที่นักการศึกษาของโลกตะวันตกนำมาพัฒนาใช้จนถึงปัจจุบัน
            วรรณกรรม วรรณกรรมของกรีกได้รับการยกย่องอยู่ในกลุ่มวรรณกรรมที่ดีที่สุดของโลก วรรณกรรมที่โดดเด่นได้แก่ มหากาพย์ของโฮเมอร์เรื่อง อีเลียด และ โอเดสซี ซึ่งแต่งขึ้นประมาณช่วงศตวรรษที่ 8 ก่อนคริสต์ศักราช เพื่อสะท้อนความรู้สึกของกวีต่อโศกนาฏกรรมในสงครามกรุงทรอย (Troy) นอกจากความงดงามของภาษาและการดำเนินเรื่องแล้ว มหากาพย์ทั้งสองเรื่องนี้ยังให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับวิถีชีวิต ประเพณีและความคิดของชาวกรีกในช่วง 1000-700 ปีก่อนคริสต์ศักราช


                นอกจากผลงานที่ยิ่งใหญ่นี้แล้ว กรีกยังมีผลงานด้านวรรณกรรมอีกจำนวนมาก เช่น โศลก กวีนิพนธ์ วรรณคดี และบทละคร ซึ่งมีทั้งประเภทโศกนาฏกรรมและสุขนาฏกรรม จัดเป็นต้นแบบของการแสดงละครของชาวตะวันตกที่สืบเนื่องมาถึงปัจจุบันความเจริญของวิทยาการต่างๆ กรีกเป็นต้นแบบของโลกตะวันตกในการพัฒนาความเจริญด้านวิทยาการต่างๆ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น